ปฏิวัติร้านขายของชำ

จีนปฏิวัติร้านขายของชำกลายเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ยังไง

ด้วยนักลงทุนมหาเศรษฐี เหล่ายอดอัจฉริยะด้านข้อมูล และบุรุษไปรษณีย์ท้องถิ่นหลายพันคน – มาดูกันว่า ร้านชำเล็กๆ ในชนบทเมืองจีนผ่านพ้นและปรับตัวอย่างไรในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยี

Lou Wener ทำงานหนักมาก “ตีห้าถึงสี่ทุ่ม สัปดาห์ละเจ็ดวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ค่ะ” เธอเล่าให้ ทีมงานของ WIRED ฟังจากหลังเคาท์เตอร์อันยุ่งเหยิงของร้านชำเล็กๆ ภายในหมู่บ้านเสี่ยวเปาแห่งจังหวัด เจ้อเจียง ห่างออกไปทางตะวันตกราวสามสี่ชั่วโมงโดยรถยนต์จากตัวเมืองหางโจว ขณะที่เจ้าตัวกำลังเช็ค ความสดของไข่ที่จะนำไปส่งให้กับลูกค้าไปพลาง

Lou เกิดและโตที่นี่ท่ามกลางไร่ชา สวนเมลอนและแอปเปิล ในหมู่บ้านเสี่ยวเปาซึ่งมีประชากรราว 1,000 คน “สมัยที่เราเพิ่งเปิดร้าน..กิจการไปได้สวยมากเพราะคนไม่ค่อยเข้าเมืองไปซื้อของค่ะ” เธอเล่า “แต่หลายปี หลังมานี้ทุกอย่างยากขึ้นตั้งแต่มี Taobao คนเริ่มสั่งซื้อของออนไลน์กันแทน เหลือแค่พวกคนเฒ่าคนแก่ ที่ยังแวะเวียนมาที่ร้าน เราเจอความกดดันสูงมาก ถ้าเกิดไม่เปลี่ยนร้านก็คงต้องจบเพราะยุคอินเทอร์เน็ต”

ปฏิวัติร้านขายของชำ
ปฏิวัติร้านขายของชำ ภาพคุณ Lou Werner ในร้านขายขอบชำของเธอ (เครดิต: Stefen Chow)

ปฏิวัติร้านขายของชำ
ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปี 2015 บุรุษไปรษณีย์ท้องถิ่นเสนอที่จะช่วยเปลี่ยนร้านบ้านๆ ของ Lou ให้ กลายเป็นร้านค้าเครือข่ายออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลก แถมยังตอบสนองต่อลูกค้าได้แบบ real-time ด้วยความช่วยเหลือจากบุรุษไปรษณีย์..เธอติดตั้งเครื่องสแกน POS ณ จุดขาย, เครื่องพิมพ์ ใบเสร็จ, และเครื่องชั่งดิจิทัลเข้ากับคอมพิวเตอร์พกพาตัวใหม่เอี่ยมที่ตั้งอยู่ท่ามกลาง router เครื่องแคชเชียร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต จากนี้เมื่อลูกค้าจ่ายเงินซื้ออะไร ข้อมูลการซื้อขายจะ ถูกเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลซึ่งจะเชื่อมเจ้าของร้านและลูกค้าคนนั้นๆ เข้าถึงกันโดยทันที นอกจากนี้ยังมีระบบบัตร สมาชิกและแต้มสะสมที่สามารถนำมาใช้แลกซื้อสินค้าราคาพิเศษได้อีกด้วย

ทีวีสีขนาด 42 นิ้วโชว์ภาพห้องสนทนาจากแอปพลิเคชั่น WeChat ที่ Lou ตั้งขึ้นเพื่ออัปเดตข่าวสารและ โปรโมชั่นของร้านสู่ลูกค้าในหมู่บ้าน แถมมันยังเป็นช่องทางในการแจ้งลูกค้าด้วยเมื่อบุรุษไปรษณีย์นำสินค้า ที่พวกเขาสั่งมาส่ง ที่หน้าร้านโลโก้ของ China Post เด่นหราอยู่บนกันสาดเคียงคู่กับโลโก้สีแดงของ เว็บไซต์ “ule.com”

สู่สินค้าคงคลังเสมือน
ปัจจุบันที่ร้านของ Lou มีทั้งของที่บุรุษไปรษณีย์นำมาส่งจากเมืองอื่นเพื่อขายให้ลูกค้าในหมู่บ้านที่สั่งซื้อ สินค้าทางออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างชาถุงโตที่ชาวไร่แถวนี้นำมาส่งไว้เพื่อรอให้บุรุษไปรษณีย์ คนเดิมมารับเอาไปส่งลูกค้าที่อื่น Lou เรียกสิ่งนี้ว่า “สินค้าคงคลังเสมือน: virtual SKUs (Stock Keeping Units)” ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าของเธอเข้าถึงสินค้านับพันนับหมื่นรายการที่มากเกินกว่าจะยัดอยู่ในร้านเล็กๆ ได้หมด ด้วยความช่วยเหลือของเหล่าบุรุษไปรษณีย์จาก China Post ที่การันตีว่าสินค้าจะถูกส่งถึงร้านอย่าง ปลอดภัยในวันถัดมา

Lou เล่าว่าเดือนหนึ่งในปี 2015 เธอขายรองเท้ารุ่นหนึ่งได้ถึง 800 คู่ในหมู่บ้านที่มีประชากร 1,000 คน ทั้งหมดต้องขอบคุณการเป็นสมาชิกของ Ule เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยความร่วมมือ จากหน่วยงานไปรษณีย์และมหาเศรษฐีชาวฮ่องกงกลุ่มหนึ่งที่มุ่งหมายจะเปลี่ยนร้านชำเล็กๆ ในชนบทนับ ล้านร้านให้กลายเป็นเครือข่ายฐานข้อมูลร้านค้าปลีกแบบ real-time ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

กว่า 1 ใน 4 ของยอดขายของ Lou มาจากธุรกรรมออนไลน์ซึ่งหลักๆ คือการส่งออกสินค้าจากชาวไร่ ท้องถิ่นซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้บริการ ณ จุดขายด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยของ Ule ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถจ่ายค่าสาธารณูปโภคและจัดการบัญชีของธนาคาร Postal Bank ที่ร้านได้ สร้างรายได้เข้าสู่กระเป๋าของ Lou อีกทางหนึ่ง

และเพราะข้อมูลการซื้อขายของ Lou โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้หมดภายในเครือข่ายของ Ule ธนาคาร Postal Bank จึงมอบเครดิตให้เธอเป็นวงเงิน 90,000 หยวนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ Lou สะดวกจ่าย เพื่อให้เธอได้นำไปต่อยอดการค้า “ฉันเกือบจะต้องปิดร้านนี้แล้ว” เธอกล่าว “คนหนุ่มสาวไม่มาที่ร้านกันเลย แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาดูโปรโมชั่นต่างๆ ผ่านมือถือได้ หรือถ้าอยากได้อะไรพวกเขาก็แค่บอก แล้วของก็จะมาส่ง ถึงที่ในวันถัดมา ราคามันอาจแพงกว่า Taobao อยู่นิดหน่อยแต่คุณจะไม่ต้องกังวลกับของปลอม แถมฉันก็ เป็นคนดูแลให้เรียบร้อยหมดทุกอย่าง”

Ule บริษัทอีคอมเมิร์ซ ที่มีหนึ่งในผู้ร่วมทุนเป็น China Post
นาย Samson Yeung จะไม่หยุดปฏิบัติการเชื่อมต่อร้านชำเล็กๆ เหล่านี้เข้ากับเครือข่ายจนกว่ามันจะถึง จุดอิ่มตัว “ถ้าได้สัก 1,000,000 ร้านคงเป็นตัวเลขที่ดีมากในการครองตลาดครับ” เขากล่าว “จีนมีหมูบ้าน เล็กๆ 700,000 หมู่บ้าน เราวางแผนจะให้มีร้านของ Ule หมู่บ้านละ 1 ร้าน แล้วก็ 20-30 ร้านในเมือง นั่นจะ ทำให้เราขยายตัวครอบคลุมทั้งเขตเมืองและชนบทได้หมด”

ในฐานะประธานฝ่ายดำเนินงานของ Ule นาย Yeung เดินหน้าอย่างรวดเร็วในการสร้างเครือข่ายข้อมูล ร้านค้าปลีกแบบ real-time ที่มีความทะเยอทะยานมากที่สุดในโลก ร้าน Ule เพิ่มปริมาณจาก 250,000 ร้าน ในเดือนสิงหาคมปี 2016 กลายเป็น 330,000 ร้านในช่วงปลายเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน และเพราะ เจ้าของร้านทุกคนสแกนสินค้าที่มีการซื้อขายทุกชิ้นเข้าสู่ระบบ ปัจจุบัน Ule จึงมีฐานข้อมูล “สินค้าคงคลัง เสมือน” มากกว่า 3 ล้านรายการ

Ule chinapost

ด้วยระบบปฏิบัติการบนมือถือแอนดรอยด์..เจ้าของร้านสามารถเช็คสถิติรายวันของร้านของตัวเองได้ และข้อมูลดังกล่าวเหล่านั้นจะถูกอัปเดตในทุกๆ 5 นาที ข้อมูลจากร้านค้านับแสนร้านในระดับที่ใกล้เคียง real-time แบบนี้เปิดประตูสู่โลกใหม่ที่บริษัทสำรวจข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึกในซีกโลกตะวันตกทำได้แค่ฝันถึง

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณคือบริษัทขายเบียร์ที่อยากจะกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงที่ ความต้องการของตลาดกำลังพุ่งทะยานกลางฤดูร้อน Ule ตอบได้ว่าคุณควรส่งสินค้าไปที่ไหน ที่ไหนของ จะขายได้มากที่สุดและทำให้เหลือสินค้ารวมน้อยที่สุด หรือลองจินตนาการว่าหากคุณเป็นแบรนด์ Chanel คุณจะสามารถเช็คได้ว่าวันนี้ลูกค้าผู้หญิงวัย 44-48 ปีคนไหนซื้อผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งอย่าง Dior ไปบ้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับกลยุทธ์ เช่น การส่ง voucher ลดราคาพิเศษของ Chanel ไปให้พวกเธอเหล่านั้น ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

อาณาจักรของ Ule
“คุณจะทำอะไรได้บ้างหากมีข้อมูลจากร้านค้าปลีกทั่วโลกอยู่ในมือ” นาย Kerry Liu ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย ผู้บริโภคสัญชาติแคนาดาจากเมืองโตรอนโต้ที่ชื่อว่า Rubikloud อธิบายถึงวิธีการเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นพลัง “หนึ่ง..คุณสามารถปรับระดับและวิธีการที่ร้านค้าปลีกเหล่านั้นชักจูงและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ ร้านค้าปลีก เล็กๆ จำเป็นต้องคอยอัปเดตความสัมพันธ์กับลูกค้าเสมอด้วยหลักการที่ไม่ต่างจากองค์กรใหญ่อย่าง Netflix หรือ Facebook” เขากล่าว “สอง..คุณสามารถใช้ข้อมูลเพื่อการปรับปรุงแบรนด์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสาม..คุณสามารถกำหนดวิธีและรูปแบบในการเปิดตัวสินค้าใหม่ได้”

Rubikloud เริ่มก่อตั้งในเดือนเมษายนปี 2013 พร้อมกับภารกิจ “เพื่อบ่งชี้และทำนายพฤติกรรมผู้บริโภค ของร้านค้าปลีกใน scale ระดับโลก ขณะที่เปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้กลายเป้นรายได้” สินค้าตัวแรกของ บริษัทเป็นข้อมูลสำหรับตลาดในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูล ณ จุดขาย, ข้อมูลการทำสต็อค, โปรโมชั่นต่างๆ, คาวมภักดีของผู้บริโภค, รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่จะช่วยให้กิจการต่างๆ สามารถคาดเดาแนวทาง พฤติกรรมของผู้บริโภคในระดับบุคคลได้ แล้วหลังจากนั้นนาย Liu ก็ได้พบกับนาง Solina Chau จากบริษัท Horizons Ventures บริษัทกองทุนสัญชาติฮ่องกงซึ่งเป็นผู้บริหารการลงทุนในธุรกิจสายเทคโนโลยีของ นาย Li Ka-Shing หนึ่งในชายที่รวยที่สุดในเอเชีย

Horizons Ventures สนใจร่วมลงทุนกับ Rubikloud ทันทีที่เห็นความสามารถในการรวบรวมข้อมูล
นาง Chau เริ่มดำเนินการตามแผนใหญ่ด้วยการดึง Rubikloud เข้าไปทำงานร่วมกับ TOM GROUP
(บริษัทสื่อและอินเตอร์เน็ตที่มีนาย Li เป็นเจ้าของ) และ “Ule” บริษัทร้านค้าออนไลน์ซึ่งเกิดจากการร่วมทุน ของ TOM GROUP และ China Post ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและมีลูกจ้างรวมในสังกัดนับล้านคน

การเข้าถึงทางการเงินเพื่อคนในเขตชนบท
ปัจจุบันทั้ง Ule และ TOM GROUP ถือหุ้นคนละ 7.5% ใน Rubikloud นอกจากนี้ทั้งสองบริษัทยังได้ ร่วมลงทุนในธุรกิจ Fintech Startup สัญชาติฮ่องกงที่ชื่อว่า weLab ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อประเมินว่าเจ้าของร้านหรือลูกค้าคนใดในระบบมีเครดิตดีพอที่จะสามารถ กู้เงินจาก Ule ได้หรือไม่ อ้างอิงจากนาย Simon Loong อดีตนายธนาคารและผู้ร่วมก่อตั้ง WeLab ชาวจีน 64% ในเขตชนบทยังเข้าไม่ถึงระบบธนาคาร แถมเจ้าของร้านชำเล็กๆ โดยส่วนใหญ่ก็มักไม่มีประวัติทาง การเงินมากพอที่จะขอกู้จากหน่วยงานใดๆ ได้ บริษัทของเขาจึงใช้วิธีการประเมินคนเหล่านั้นด้วยข้อมูลจากเครดิตบูโร, แอปพลิเคชั่นจำพวกโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ, รวมถึงข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือแทน

เจ้าของร้านค้าสามารถกู้เงินแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันได้โดยมีค่าใช้จ่ายสินเชื่อ (ดอกเบี้ยรวมกับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ) อยู่ที่ 9% และสามารถนำเงินเหล่านั้นไปเป็นต้นทุนเพื่อการซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ Ule Postal Bank จะพร้อมบริการเงินสดให้ทันทีหลังจากที่ลูกค้าเหล่านั้นยินยอมให้เว็บไซต์ WeLend ของ WeLab เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากจากโทรศัพท์มือถือของพวกเขาเพื่อการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อภายใน 5 นาที “เราจะดูพฤติกรรมส่วนบุคคลและความรับผิดชอบของผู้ขอกู้คนนั้นๆ ด้วยการประเมินจากข้อมูลต่างๆ ทั้งหมด 800 จุด เช่น รุ่นของโทรศัพท์ที่ใช้, แอพฯ ที่ใช้บนมือถือ, วิธีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น, การใช้งาน โซเชียลเน็ตเวิร์ค, และอื่นๆ อีกหลายอย่างครับ” นาย Loong อธิบาย “จุดมุ่งหมายของเราคือการทำให้ คนจีน 30% เข้าถึงระบบสินเชื่อภายในปี 2018” เขากล่าวเพิ่มเติม

และนี่เองคือวิธีที่บริษัทโลจิสติกส์และร้านค้าปลีกเชิงข้อมูลออนไลน์ใช้เพื่อเพิ่มเม็ดเงินในระบบและ หล่อลื่นการซื้อขาย (ที่สุดท้ายจะนำเงินกลับมาสู่กระเป๋าตัวเอง) ให้เป็นไปอย่างคล่องตัวขึ้น

“นี่คือนวัตกรรมแห่งประเทศจีนครับ บริษัทอินเทอร์เน็ตสัญชาติจีนหลายเจ้ากำลังเลียนแบบเรา” นาย Chen Qing สมาชิกผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการแห่งบริษัท Ule ซึ่งควบตำแหน่งผู้จัดการทั่วไประดับ จังหวัดของ China Post กล่าว “Ule คือตัวเร่งปฏิกิริยาในการปรับโฉม China Post ครับ ในการจะเปลี่ยน วัฒนธรรมขององค์กร..คุณต้องใช้เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมและความเชื่อที่จะขับเคลื่อนตลาดเข้ามาช่วย ธุรกิจขนส่งพัสดุของเราในจังหวัดนี้เติบโตขึ้นถึง 450% เพราะ Ule และจากนี้ไปผมหวังจะเห็นการเติบโต อย่างน้อย 100% ในทุกปี”

จังหวัดเจ้อเจียงได้รับเลือกให้เป็นเขตทดลองของเว็บไซต์ Uleเพราะมณฑลหางโจวถือว่าเป็นแหล่งรวม ของธุรกิจออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือเว็บไซต์ e-commerce สัญชาติจีนกว่า 1 ใน 3 ของทั้งวงการ และตอนนี้ Ule พร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นสู่เวทีระดับชาติด้วยการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลระดับ ท้องถิ่น “รัฐบาลให้การสนับสนุน Ule และนโยบายการเข้าถึงชนบทของมันครับ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขา ให้เงินอุดหนุนร้านขายของชำในการอัพเกรดระบบคอมพิวเตอร์ แถมยังมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวนา ชาวไร่นำผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้าสู่ฐานข้อมูลออนไลน์ของ Ule ด้วย” นาย Chen กล่าว

พลังของไปรษณีย์ที่เข้าถึงคนท้องถิ่น
“70% ของประชากรจีนทั้งหมดเป็นชาวชนบท และในสังคมยังคงมีช่องว่างอีกมากมาย คนในชนบท จะเข้าถึงสินค้าคุณภาพดีได้อย่างไร ทำยังไงชาวไร่ถึงจะขายสินค้ากลับสู่คนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไหนจะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางความรู้และข้อมูลข่าวสารอีก China Post คือองค์กรเดียวของจีนที่เข้าถึง คนกลุ่มนี้ได้ลึกและครอบคลุมที่สุด เราอยากจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อถมช่องว่างเหล่านั้นครับ”

และอีกอย่าง..แน่นอนว่าตัวองค์กร China Post เองก็ได้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจด้วย จากการพลิกบทบาท ขึ้นมาเป็นกระดูกสันหลังที่อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งให้กับธุรกิจเครือข่ายค้าปลีกออนไลน์ระดับชาติ “ผลประกอบการของ China Post ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเป็นผู้ขนส่งสินค้าให้กับ Ule” นาย Chen อธิบาย “เรามีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวนาชาวไร่เองก็มีงานมีรายได้เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งยอดเงินฝากออมทรัพย์ใน ธนาคาร Postal Bank ที่เพิ่มขึ้นตาม ทุกอย่างส่งเสริมกันเป็นลูกโซ่และ Ule มีส่วนกว่าครึ่งในการเติบโตนั้น”

เขายังกล่าวอีกว่าเป้าหมายขององค์กรในปี 2017 คือการสร้างร้านค้าเครือข่ายชนบทให้ได้ถึง 500,000 ร้าน “จากนั้นอีก 500,000 จะอยู่ในเมืองใหญ่ ลองนึกภาพการที่คนเมืองสามารถสั่งซื้ออาหารสดๆ จาก ผู้ผลิตได้โดยตรงสิครับ ลองนึกถึงประโยชน์ที่พวกเขาและเกษตรกรจะได้สิ” นอกจากนีี้องค์กรยังสนับสนุน (แกมบังคับ) ไปถึงเหล่าบุรุษย์ไปรษณีย์ภายในสังกัดด้วย Postal Bank มีนโยบายปล่อยเงินกู้เพื่อให้เหล่า บุรุษไปรษณีย์นำไปซื้อรถมินิแวนซึ่งกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีแทนการใช้จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ แบบเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบันทุกและขนส่งสินค้านั่นเอง “เราสนับสนุนเงินทุน มีรถมาส่ง ให้ถึงที่ แถมยังช่วยอุดหนุนค่าก๊าซด้วยครับ ข้อแม้มีแค่ข้อเดียวคือลูกจ้างต้องซื้อรถเป็นของตัวเองเลย เพราะเมื่อเป็นทรัพย์สินส่วนตัวพวกเขาจะดูแลรักษามันดีกว่า”

“นี่คือที่มาของคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติเกิดขึ้นในอดีตก็เพราะพวกชาวนาครับ” นาย Ken Yeung พี่ชาย ของนาย Samson และ CEO ของ TOM GROUP สาขาฮ่องกงกล่าวขณะอธิบายแนวคิดที่ว่าโมเดลธุรกิจ ของ Ule จะมุ่งแก้ “ปัญหาชนบท” ของจีนให้ได้ก่อนการขยายตัวเข้าสู่เมือง

TOM GROUP ซึ่งถือหุ้น 42% ในบริษัท Ule มีเป้าหมายหลักที่ชัดเจนคือการ “สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ China Post” (ซึ่งถือหุ้น 43.7% ใน Ule) “เราดึงคนที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในองค์กร และพวกเขาคือตัวยืนพื้นในระบบปฏิบัติการครับ เราเคยบริหาร eBay ในจีนมาก่อน เราเข้าใจหัวใจของ การซื้อขายออนไลน์ดี เราเปลี่ยนให้ร้านขายของชำบ้านๆ กลายเป็นเครือข่ายดิจิตัลและได้รับการตอบรับ จากร้านค้ากว่า 300,000 ร้าน บุรุษไปรษณีย์ของเราเดินทางไปถึง 15 หมู่บ้านในแต่ละวัน องค์ประกอบ เหล่านั้นเองที่ทำให้ Ule ก้าวหน้าได้เร็ว” นาย Yeung กล่าว

และสถิติผลประกอบการก็เป็นเครื่องยืนยันคำพูดเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี รายได้รวมของ Ule ในครึ่งปีแรก ของปี 2016 สูงถึง 28.2 พันล้านหยวน เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึงสามเท่า “Alibaba เองก็กำลังพยายามลงไป ให้ถึงรากหญ้าที่ลึกที่สุดเหมือนกัน” นาย yeung กล่าว “พวกเขาตั้งเป้าว่าจะต้องมีร้านเครือข่าย 200,000 ร้านภายในเวลา 2 ปี แต่นี่ผ่านมา 18 เดือนแล้วยังเพิ่งได้แค่ 17,000 ร้านเอง นั่นเป็นเพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว Alibaba เป็นบริษัทที่เน้นการค้า แต่ Ule คือบริษัทที่เน้นข้อมูลครับ”

Cr: wired.co.uk and Techsauce

แบ่งปันสิ่งนี้: "ร่วมสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ สังคมแห่งการแบ่งปัน"

Post Author: rmb_ad

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

thirteen + ten =