เรากำลังเข้าใจอะไรผิดไป…กับนักท่องเที่ยวจีน
ก่อนอื่นต้องขอกราบเรียนท่านผู้อ่านว่า
1. มิได้มีเจตนาต้องการทำให้ผู้ใด หรือ ฝ่ายใดเสียหาย ทั้งทางไทยและทางจีนค่ะ
2. เพียงแต่อยากให้ท่านผู้อ่านได้มีมุมมองต่อนักท่องเที่ยวจีนในอีกมุมนึงที่เราอาจไม่เคยรู้
3. อยากให้เราฉุกคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าทุกวันนี้นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวยังประเทศไทยมากที่สุดในแต่ละเดือน (กรมการท่องเที่ยว, ส.ค. 59) และเราสามารถมองเห็นและสร้างโอกาสอะไรได้บ้างจากข้อเท็จจริงนี้
4. ปรารถนาให้พวกเราทุกคนร่วมเป็นหูเป็นตา ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ของชาติไทยเรากันค่ะ
ทัวร์ศูนย์เหรียญ เรากำลังเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า โดยที่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นเขาเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกนับจำนวนเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองธุรกิจ โดยจ่ายเงินมาเที่ยวเมืองไทย มาซื้อของที่เมืองไทย แต่เรากำลังเข้าใจคนจีนแบบผิด ๆหรือเปล่า ว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่มีเงินมาจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทย ทั้งที่เขาคือนักช็อปตัวยงในโลกขณะนี้
เราควรจะทำความเข้าใจก่อนนิดนึงว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” คืออะไร คำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุด คือว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมา กินฟรี เที่ยวฟรี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงประการใด
เริ่มจาก การขายทัวร์แบบขาดทุน ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างแพ็กเกจเที่ยวเมืองไทย 5 วัน 5 คืน เดินทางจากจีนมากรุงเทพฯ ไปพัทยา ราคาแค่ 15,000 บาท ราคานี้รวมค่าเครื่องบิน ที่พัก พาเที่ยวตลอดทริป ซึ่งเป็นราคาที่ “ถูกมาก” ชนิดใครได้ยินก็ต้องคว้าไว้ก่อน”
ถามว่าขายราคาขาดทุนแบบนี้แล้วธุรกิจทัวร์เหล่านี้อยู่ได้อย่างไร ? บริษัททัวร์ต้นทางจากจีนขายแพ็กเกจทัวร์ โดยคิดแค่ค่าเครื่องบินบวกกำไรนิดหน่อย เช่น ค่าเครื่องบินไป-กลับ 13,000 บาท เขาได้บวกกำไรต่อหัวไปแล้วคนละ 2,000 บาท เอากำไรแค่นี้ แต่เมื่อคิดถึงจำนวนลูกทัวร์ 200 คนต่อลำ แค่นี้ก็ฟันกำไรไปแล้ว 400,000 บาท ส่วนค่าเครื่องบินที่กดราคาลงมาถูกได้นั้น นิยมใช้เครื่องเช่าเหมาลำ “ชาร์เตอร์ไฟลท์” ซึ่งเป็นที่แพร่หลายกันในหมู่คณะทัวร์ที่มาจากมณฑลที่ไม่มีสนามบินหลัก หรือไม่มีเที่ยวบินประจำเข้าไทย และล้วนเป็นนักท่องเที่ยวที่มาไทยเป็นครั้งแรก!
“เมื่อเช่าเครื่องบินมาแล้วก็ต้องหาคนใส่ให้เต็มเที่ยวบิน ฉะนั้นคนมาทีหลังอาจยิ่งได้ราคาถูกเข้าไปอีก เพราะขายถูกเอาทุนคืนดีกว่าปล่อยที่นั่งว่าง
เมื่อมาถึงเมืองไทยก็ส่งต่อลูกทัวร์ให้บริษัททัวร์ฝั่งไทย โดยไม่ได้จ่ายค่าหัวหรือค่าใช้จ่ายให้ ขอย้ำว่าให้แต่ลูกทัวร์แต่ไม่ให้เงินสักบาท จึงเรียกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”
ในขณะที่มีอีกทัวร์หนึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน เรียกกันว่า“ทัวร์คิกแบ็ก” สภาพการณ์ก็คล้ายกัน แต่ต่างกันตรงที่เวลานำนักท่องเที่ยวจีนมาให้บริษัททัวร์ฝั่งไทยแล้ว นอกจากไม่ให้เงินแล้ว บริษัททัวร์ฝั่งไทยยังต้องควักเงินไปจ่ายเพื่อ “ซื้อหัว” นักท่องเที่ยวมาอีก ราคาหัวละ 5,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีภาระสูงขึ้น
ในส่วนของบริษัททัวร์ไทย ถามว่าเขาโง่พอที่จะแบกรับค่าใช้จ่าย ทั้งค่าโรงแรมที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถทัวร์ขนส่ง ค่าไกด์นำเที่ยว หรืออย่างไร ไม่มีทาง … เรียกง่าย ๆ ผู้ประกอบการเขาคิดไว้แล้วว่าจะทำกำไรได้อย่างไร ไม่มีใครโง่ทำธุรกิจให้ตัวเองขาดทุน…ใช่ไม่ใช่?
คำนวณคร่าว ๆ ค่าใช้จ่ายต่อหัว ที่บริษัททัวร์ฝั่งไทย ประเมินคร่าว ๆ เป็น ค่าโรงแรมที่พักรวมอาหารเช้าคืนละ 1,200 บาท รวม 5 คืน 6,000 บาท ลูกทัวร์พัก 2 คน/ห้อง ค่าใช้จ่ายต่อหัวส่วนนี้ตกคนละ 3,000 บาท ค่าอาหาร 5 วันรวม 10 มื้อ มื้อละ 150 บาท รวม 1,500 บาท และค่าเช่ารถทัวร์วันละ 5,000-6,000 บาท/20 ที่นั่ง หรือเฉลี่ยคนละ 1,000-1,200 บาท รวมค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ทัวร์ไทยต้องแบกรับอยู่ที่ 5,500-5,700 บาท และถ้าซื้อหัวนักท่องเที่ยวมาอีกรายละ 5,000 บาท ก็มีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ 10,500-10,700 บาท
ดังนั้นบริษัททัวร์หไทย ต้องหาวิธีลดต้นทุนของตัวเอง อาทิเช่น เช่ารถรับนักท่องเที่ยว เมื่อมีสองบริษัทใหญ่เจ้าของร้านจิวเวลรี่ที่หากินอยู่กับกรุ๊ปทัวร์เหล่านี้ ลงทุนซื้อรถทัวร์เป็นพันคันเพื่อให้เช่าราคาถูกเพียงวันละ 1,000 บาท ภายใต้ เงื่อนไขที่ต้องนำนักท่องเที่ยวมากินและช็อปปิ้งตามร้านที่บริษัทเจ้าของรถเช่ากำหนดไว้ซึ่งมีอยู่ 4-5 ร้าน มีทั้งร้านขายจิวเวลรี่ ของชำร่วย รังนก กระเป๋า ยาสมุนไพรหรือยาโด๊ปทั้งหลาย ที่ล้วนเป็นร้านของเจ้าของจิวเวลรี่ทั้งสิ้น
แน่นอน! เมื่อทั้งบริษัททัวร์ไทยที่รับลูกทัวร์จีนมา และบริษัทรถทัวร์ให้เช่าที่กลุ่มเจ้าของร้านจิวเวลรี่จัดหามาให้ต่างมีค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนลงแรงไป จึงต้องหาหนทาง “ถอนทุนคืน” เอาจากการจับจ่ายใช้สอยของลูกทัวร์เหล่านี้ในทุกวิถีทาง
นักธุรกิจไทยรู้อยู่แล้วว่า อุปนิสัยใจคอของคนจีนเองก็ชอบช็อปปิ้งเวลาเดินทางไปต่างถิ่น ต่างเมือง
เพราะราคาสินค้า สมุนไพร ยาโด๊ป ที่นอนยางพารา หรือจิวเวลรี่ที่ซื้อกลับไปฝากฝังญาติพี่น้องที่เมืองจีนนั้น คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้ล่วงรู้ได้ว่า “ถูกหรือแพง” อย่างไร เพราะร้านที่ถูกพาไปซื้อถูกกำหนดและจำกัดอยู่แค่นั้น และทุกครั้งที่ลูกค้าซื้อของจากทางร้าน บริษัททัวร์จะได้เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง 30% ไกด์อีก 3% และเมื่อรวมยอดซื้อทั้งกรุ๊ปทัวร์ได้ตามเป้า ทางบริษัทผู้ให้เช่ารถยังให้ค่าหัวที่พาลูกทัวร์มาอีกหัวละ 1,000-2,000 บาทด้วย
บางคณะทัวร์นั้น เนื่องจากบริษัททัวร์ และเครือข่ายยังถอนทุนคืนกำไรได้ไม่ครบ กลับใช้วิธีบังคับให้ลูกทัวร์ดูโชว์คืนเดียว 3 รอบ 3 แห่ง ดูกันจนตาแฉะ หรือไม่ก็วนเวียนกิน วนเวียนซื้อ กับร้านขายสมุนไพร ของที่ระลึก และยาโด๊ป เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนจับจ่ายใช้สอย
กรุ๊ปทัวร์บางคณะที่เคยมาเมืองไทยและรับไม่ได้กับที่ถูกบังคับให้ไปดูแต่โชว์ลามกอนาจาร จนมีการร้องเรียนทางการจีน และมีการสั่งปิดบริษัททัวร์ต้นสังกัดในจีนไปหลายราย
เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวชาวจีน หรือไม่ เป็นประเด็นคำถามตัวโต ๆ หรือ นักท่องเที่ยวชาวจีนยอมรับได้ เพราะที่สุดแล้ว เหมือนกับว่า เขาก้อไม่ได้เสียหายอะไร เพราะซื้อตั๋วมาราคาถูก ได้ซื้อของกลับบ้านเกิดเมืองนอนไป
ขณะที่ ฝ่ายไทย ก็ไม่ได้เสียเปรียบ เนื่องจากว่าบริการฟรี ที่ว่านั้น ได้ถูกนำไปชาร์จไว้ในราคาของซื้อของฝากซึ่งคนจีนต่างชอบเป็นนิสัยทุนเดิมอยู่แล้ว อันนั้นก็แล้วแต่สาธารณะชนจะคิดอ่านกัน เพียงแต่กติกาตรงนี้มัน ควร หรือ ไม่ควร ที่จะมุบมิบ กับ ลูกทัวร์ชาวจีน บอกให้เขาทราบล่วงหน้าก่อนไหมว่า หากมาใช้บริการแบบที่เรียกกันแพร่หลายนี้เขาจะต้องรับได้กับการที่บริษัทนำเที่ยวฝ่ายไทย.. พาตระเวณซื้อสินค้าและบริการ
จะมีก็แต่ปัญหาที่ทางการไทยต้องแก้ไขให้ตก นั่นคือ กลุ่มนักธุรกิจจีนที่เข้ามายึดหัวหาดเปิดบริษัทนำเที่ยวในไทย มีทั้งที่ใช้ชื่อคนไทยเป็น “นอมินี” หรือเอาคนจีนเข้ามาสวมบัตรประชาชนคนไทย แล้วเปิดสำนักงาน ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมที่พักนับสิบแห่งเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากจีนโดยเฉพาะ โดยนำจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน มาบีบบังคับนักธุรกิจชาวไทย ให้ขายหุ้นในกิจการให้ ทั้งที่ภูเก็ต และพัทยา อันนี้ต้องยอมรับเป็นกรณีที่ส่งผลเสียอย่างร้ายแรง เพราะ เงินที่ได้จากธุรกิจจะถูกขนกลับประเทศจีนใช่ไหม?เป็นคำถามตัวโต ๆ แต่เรื่องนี้มีกฎหมายไทย หลายฉบับได้ปกป้องธุรกิจของคนไทย ที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพ แย่งรายได้ของคนไทย
แต่ทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียงอย่างเดียวหรืออย่างใดไม่ เป็นเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจ การแข่งขันในการทำตลาด ที่แปลกพิสดารและบางเรื่องหมิ่นเหม่กับการกระทำที่ผิดกฏหมายหรือไม่
แต่นักท่องเที่ยวชาวจีน กลับถูกเหมารวมว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการ ทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือ ทัวร์คิกแบ็ค หรือเปล่าทั้งที่เขาต่างหากเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกนำไปต่อรองผลประโยชน์
ดังนั้นพวกเราลองเปลี่ยนมุมมอง เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวจีนไหมว่า เขามีส่วนเกี่ยวข้องไหม เกี่ยวพัน กับทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือ ทัวร์คิกแบ็ค อย่างใดหรือเปล่า เขาเป็นแค่คนอยากมาเที่ยว ในราคาที่คิดว่าเหมาะสมเมื่อเทียบกับคุณภาพ ตามข้อเสนอของบริษัทเอเจนซี่ทัวร์ เท่านั้นเอง เขาไม่ได้นำเงินสกปรกมาให้เรา หรือมาแสวงหาผลประโยชน์จากเรา เขามาแสวงหาความสุขจากการเปิดหูเปิดตา มาจับจ่ายซื้อของ มาพักผ่อน
เหมือนกับเรา ที่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แห่กันจองคิวซื้อทัวร์ไป ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในสนนราคาถูกแสนถูก เข้าใจเรา เข้าใจเค้ากันนะ
Cr: หนังสือพิมพ์แนวหน้า, ชมรมมัคคุเทศก์ อิตาเลี่ยน, 1morenews
Cr Photo: bangkokpost, TopTenThailand, People’s Daily Online, Chinese Tourist Agency